Le Cordon Bleu โลโก้

เส้นทางอาชีพสำหรับคนรักการทำอาหาร

ประเทศไทย
สำหรับผู้ที่รักในการทำอาหารคงจะรู้อยู่แล้วว่า หากเรียนจบหลักสูตรการประกอบอาหารก็จะสามารถนำความรู้และทักษะไปประกอบอาชีพเป็นเชฟได้ แต่นอกจากการเป็นเชฟแล้ว ผู้ที่เรียนจบในด้านนี้ก็ยังสามารถก้าวเข้าสู่สายงานอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมการประกอบอาหารได้อีกมากมาย

1. ช่างถ่ายภาพอาหารและตกแต่งจานอาหาร (Food Styling or Food Photographer)

ภาพในสื่อโฆษนาต่างที่เราเห็นในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นทั้งเสื้อผ้า อาหาร หรือขนมต่าง ๆ ต่างต้องใช้ทักษะในการถ่ายรูปเพื่อดึงจุดเด่นสินค้า อาหาร หรือขนมให้ดูโดดเด่น น่ารับประทานมากยิ่งขึ้น ดังนั้นหากเรามีทักษะในการถ่ายรูปเป็นทักษะพิเศษติดตัวแล้วและยังมีความรู้ทางด้านอาหารเพิ่มเติมด้วยก็ยิ่งสามารถรับงานถ่ายรูปได้หลากหลายแนวมากยิ่งขึ้นด้วย เพราะช่างภาพเหล่านั้นจะทราบถึงองค์ประกอบของอาหาร และรู้ว่าลักษณะของอาหารหรือขนมแบบไหนที่เหมาะจะหยิบยกมานำเสนอ

2. นักพัฒนาสูตรอาหาร (Food Industry Research and Development)

ในปัจจุบันนี้มีสูตรอาหารใหม่ ๆ ออกมามากมายเพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลาย ทั้งรสชาติและหน้าตาของอาหารล้วนแล้วแต่ผ่านการคิดค้นและค้นคว้ามาเพื่อให้ทันกับการแข่งขันที่สูงขึ้น ดังนั้นหากเรามีความสามารถในการทำอาหาร และมีความคิดสร้างสรรค์ในการคิดสูตรอาหารใหม่ ๆ ผนวกกับมีความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ ก็ยิ่งเป็นที่ต้องการของตลาดตามไปด้วย

3. นักโภชนาการอาหาร (Nutritionist)

กระแสของการรักสุขภาพยังคงเป็นเทรนด์สำคัญที่ต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน อีกทั้งสังคมปัจจุบันได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว การดูแลตัวเองทั้งทางร่างกายและจิตใจ ตลอดจนอาหารการกินก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โรงพยาบาล ศูนย์พักฟื้น ศูนย์ดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ ต้องมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลด้านโภชนาการโดยเฉพาะ หากเรามีพื้นฐานความรู้ในสาขาอาหารและโภชนาการเป็นทุนเดิม ประกอบกับการเรียนรู้เพิ่มเติมในสายการทำอาหาร ก็สามารถที่จะพัฒนาเพื่อเพิ่มรสชาติและรูปแบบของอาหารให้น่าสนใจมากขึ้น ทั้งยังคงคุณค่าทางโภชนาการไว้ได้อีกด้วย

4. เชฟทั่วไปและเชฟส่วนตัว (Chef or Personal Chef)

การเป็นเชฟถือเป็นอาชีพที่อยู่ในกระแสมากสำหรับช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ไม่ว่าจะเป็นเชฟตามร้านอาหารหรือการเป็นเชฟส่วนตัวตามบ้านหรือองค์กรสำคัญ ๆ โดยอาชีพนี้นอกจากจะได้ทำงานในสิ่งที่รักแล้ว ยังได้รังสรรค์ผลงานในรูปแบบใหม่ ๆ อันเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง และเมื่อมีการพัฒนาตนเองอยู่เสมอก็สามารถกลายเป็นเชฟที่ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงได้

5. เจ้าของธุรกิจร้านอาหาร (Restaurant Owner)

การเริ่มต้นธุรกิจการเปิดร้านอาหาร ร้านขนมเป็นของตัวเองคงเป็นความใฝ่ฝันของใครหลายคนที่ต้องการทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ไม่ว่าจะเป็นการขายแบบมีหน้าร้านหรือขายผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งก็มีปัจจัยมากมายที่เหล่าเจ้าของธุรกิจต้องคำนึงถึง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความหลากหลายและความแปลกใหม่ของเมนู ต้นทุน

บรรจุภัณฑ์ ช่องทางการจัดส่ง โปรโมชันในการดึงดูดใจลูกค้า การคำนวณต้นทุน และอื่น ๆ อีกมากมาย ดังนั้นความท้าทายของการเป็นเจ้าของธุรกิจให้ประสบความสำเร็จแล้ว นอกจากจะจำเป็นต้องมีพื้นฐานความรู้ทางด้านอาหารหรือขนมที่ตัวเองขายแล้ว ยังต้องมีความรอบด้านทางด้านธุรกิจอีกด้วย

6. ครูสอนทำอาหาร (Culinary Teacher)

เพื่อตอบสนองต่อความต้องการเรียนทำอาหารที่มีหลากหลายรูปแบบและช่วงเวลาที่เหมาะสมกับผู้เรียน จึงมีการเปิดหลักสูตรที่หลากหลาย ทั้งการเรียนที่สถาบันหรือเรียนผ่านทางออนไลน์ จึงเป็นอีกโอกาสของผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการทำอาหารที่จะแตกแขนงสายอาชีพมาเป็นครูสอนทำอาหารได้อีกด้วย

7. นักวิจารณ์อาหาร (Food Critic)
นักวิจารณ์อาหารก็เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่หลายคนสนใจ เพราะทั้งได้ชิมอาหารและให้คำแนะนำด้านรสชาติและองค์ประกอบต่าง ๆ ของอาหาร อาชีพนักวิจารณ์อาหารจำเป็นจะต้องอาศัยทั้งความรู้และประสบการณ์ เพื่อสามารถให้ความเห็นและประเมินได้อย่างเป็นกลางและสร้างสรรค์

8. นักเขียนด้านอาหารหรือเขียนตำราอาหาร (Food Writer or Cookbook Writer)
จะเห็นได้ว่าในนิตยสาร หนังสือ เว็บไซต์ หรือบล็อก ต่างก็มีคอนเทนท์ที่เกี่ยวกับอาหาร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโภชนาการ สูตรอาหาร หรือแนะนำร้านอาหาร นี่จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ผู้ที่มีความรู้ด้านการประกอบอาหารหรือด้านโภชนาการสามารถแบ่งปันและให้ความรู้แก่ผู้อ่านได้ ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ เพราะสามารถเขียนงานได้ทุกที่และเข้าถึงผู้คนได้ง่ายและรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังสามารถเขียนตำราอาหารของตนเองเพื่อถ่ายทอดสูตรอาหารไม่ว่าจะเป็นสูตรแบบดั้งเดิมหรือสูตรที่พัฒนาขึ้นเองก็ดี

จะเห็นว่าการมีพื้นฐานทางด้านการทำอาหาร นอกจากจะสามารถไปประกอบอาชีพเป็นเชฟหรือเปิดร้านของตัวเองแล้วก็ยังสามารถนำความรู้ไปปรับใช้ได้กับหลากหลายแขนง ทั้งนี้ หลักสูตรของสถาบัน เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต มีการสอนที่เน้นการฝึกปฎิบัติให้มีความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขาของอาหารโดยเฉพาะ โดยหลักสูตรจะแยกตามประเภทของอาหาร เช่น หลักสูตรอาหารคาวฝรั่งเศส หลักสูตรขนมอบฝรั่งเศส หลักสูตรอาหารไทย และหลักสูตรการทำขนมปัง ทั้งยังเปิดสอนด้านเครื่องดื่มและหลักสูตรการจัดการร้านอาหารเบื้องต้น เพื่อตอบสนองความต้องการเรียนรู้ในหลากหลายรูปแบบอีกด้วย

TOP